ฟิล์ม 16 ม.ม. ที่เป็นหนังไทย (โดยเฉพาะที่มาจากยุคที่เรียกว่ายุค 16 ม.ม.) ส่วนใหญ่จะเป็นฟิล์มแบบรีเวอร์ซัลที่ถ่ายแล้วมาใช้ตัดต่อเลย (คล้ายๆโพลารอยด์) ไม่มีการทำเสียงเพราะใช้การพากษ์สด ไม่มีก๊อบปี้ที่สอง (หรือถ้ามีก็หมายความว่าหนังเรื่องนั้นมีการถ่ายสองกล้องพร้อมกันในเวลาเดียว) ฟิล์มหนังไทยพวกนี้ส่วนใหญ่จึงสาบสูญไปหมดเพราะถูกฉายจนมันหมดสภาพ ส่วนหนังไทยขนาด 16 ม.ม.ที่เป็นเนกาทีฟ (แล้วมาพิมพ์กลับเป็นโพสิทีฟตอนออกฉาย) จัดได้ว่ามีจำนวนน้อย ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นหนังที่สร้างโดยยูซิสเพื่อใช้รณรงค์ต่อต้านคอมฯในยุคสมัยนั้น ส่วนฟิล์มหนังต่างประเทศที่มีใช้งานอยู่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่เป็นสมบัติของสถาบันวัฒนธรรมเช่น เกอเธ่ และฝรั่งเศส ซึ่งพอหมดสัญญาการใช้สิทธิ์เค้ามักจะทำลายทิ้ง (เมื่อสัก 10 ปีก่อนที่การทำลายหนังที่ว่านี้จำนวนหลายร้อยเรื่อง) แต่อาจจะมีมีอีกส่วนหนึ่งเล็กๆน้อยๆที่ไม่รู้ที่มาชัดเจน
ฟิล์มหนังเก็บรักษาค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในแถบประเทศเราที่มีศัตรูตัวฉกาจของฟิล์มคือความร้อนและความชื้น ขณะที่มันเองต้องการอยู่ในที่รักษาความชื้นและอุณหภูมิไว้เหมาะสมคงที่ เพื่อการมีอายุเกินไปกว่าร้อยปี การเก็บหากทำไม่ดีก็มีสิทธิ์ได้กลิ่นน้ำส้มสายชูคลุ้งบ้าน แถมหนังเองเอามาดูก็จะได้สีผิดเพี้ยนไปจากเดิม การที่คนอย่างเราๆจะเก็บหนังไว้ดูเองเลยเป็นเรื่องไม่ง่าย กระทั่งหน่วยงานด้านนี้เองบางทีก็ยังมีปัญหา เช่น ห้องเก็บฟิล์มของสถาบันวัฒนธรรมต่างประเทศที่มาตั้งในบ้านเรา ลองเข้าไปในห้องเก็บยังได้กลิ่นตุๆที่ว่านี้เลย