ผมได้รับสายไฟเอซี Xotiq จากคุณเจมส์ (C3 Exclusive) มาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมานี้เอง คืนนั้นก็ต่อเข้ากับแอมป์ C3 RED ที่อัพเกรดฟิวส์ดีซีมาญญิฟิกและฟิวส์เอซีนัวร์ II ไปก่อนหน้านั้นไม่นาน แล้วลองฟังกันในคืนนั้นเลย จนถึงเวลานี้สิริรวมได้ประมาณ 20 ชั่วโมง จริง ๆ แล้วต้อง burn กัน 200 ชั่วโมง แต่เท่าที่ผ่านมา 1/10 ของเวลาอุ่นเครื่องอันแสนนาน ก็พอจะสรุปเบื้องต้นได้ดังนี้
อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมฟัง (ที่สุดแสนจะไฮเอนด์)
1. Integrated Amplifier : CEC 3300R <C3 RED version>
2. CD player : NAD 514
3. Loudspeaker : JBL 82 (ใครเคยเห็นลำโพงรุ่นนี้บ้าง?)
4. Analog Interconnect : Supra Eff-I <with PPSL RCA plug>
5. Loudspeaker Interconnect : Neotech <pure silver> เมตรละสามร้อยบาท
ปลั๊กผนังเป็นเนชั่นแนลธรรมดา ไม่มีการปรับอคูสติกของห้องอย่างไรทั้งสิ้น วางเครื่องเสียงบนโต๊ะกึ่งตู้เตี้ย ๆ อย่างอนาถาตามมีตามเกิด
ลักษณะของสายไฟ Xotiq ตัวสายเป็นยี่ห้อ LappKabel ของเยอรมนี ความยาวคาดว่าประมาณ 1.8 เมตร (ไม่ได้วัดจริง ๆ จัง ๆ ครับ อารามอยากฟังก่อน) ตรงกลางค่อนไปทางท้ายมีกล่องวงจรเร่งอิเล็กตรอนสีน้ำตาลไหม้ มีแผ่นทองเหลืองชุบทองปิดอยู่ สลักลายชื่อ Xotiq และลายเซ็นของผู้ออกแบบ (คุณเจมส์) หัวท้ายใช้อะไรก็ได้ขึ้นกับเจ้าของ ผมใช้หัว FIM 303 ท้าย FIM 302 ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสสนทนากับคุณเจมส์ ซึ่งได้บอกผมว่า ตอนทำตัวต้นแบบใช้ปลั๊ก National ถูก ๆ เท่านั้นเอง เพื่อดูว่าสายไฟจะทำงานได้ผลตามที่ผู้ออกแบบต้องการหรือไม่ โดยไม่มีผลจากบุคลิกของหัวปลั๊กชั้นดีมาแทรกแซง
ตอนไปรับสาย ผมก็ได้สนทนากันพักใหญ่ถึงแนวคิดและการออกแบบสายไฟตัวนี้ ซึ่งคุณเจมส์ก็ได้ให้เอกสารถ่ายสำเนาเป็นลายมือเขียนอธิบายหลักการพอสังเขป และวิธีการใช้สายที่ถูกต้อง ซึ่งผมก็ได้ขออนุญาตนำมาถ่ายทอดในตอนท้ายของกระทู้นี้ คุณเจมส์แถมท้ายด้วยว่า หากใช้ต่อจากปลั๊กผนัง ให้เสียบค้างไว้เลยไม่ต้องดึงออก ให้มีกระแสไฟแช่ไว้จะเป็นการดี อนึ่ง สายไฟที่ผมได้รับนี่ประกอบเสร็จใหม่ ๆ ยังไม่ได้ burn เลยแม้แต่น้อย
ผลการลองฟัง ผมใช้แผ่นซีดีต่าง ๆ ที่เคยลองใช้ฟังเมื่อแรกได้รับแอมป์ C3 RED เพื่อเปรียบเทียบกันระหว่างแอมป์ที่ยังไม่ได้อัพเกรด กับที่อัพฯ แล้วทั้งฟิวส์และสายเอซี ดูว่าจะแตกต่างกันขนาดไหน แนวทางในการเลือกซีดีมาทดลองฟังของผมนั้น ผมไม่ได้เน้นแผ่นไฮเอ็นด์ แผ่นออดิโอฟิลที่บันทึกและตัดแผ่นมาดี ๆ เพียงอย่างเดียว ผมกลับชอบใช้แผ่นที่เสียงอับ ๆ อู้ ๆ มากกว่า อาทิ แผ่นพวกแอบอัด (bootleg) ประเภทใช้เทปคาสเซ็ทแอบอัดการแสดงสดมา (สมัยนี้คงใช้ Mini Disc, MP3 หรือ IC recorder) เพลงโบราณที่ทำมาสเตอร์จากแผ่นครั่งหรือแผ่นไวนิล ประเภทมีเสียงคั่วข้าวโพดเสียงซู่ซ่าแบบน้ำตกด้วยยิ่งดี แผ่นบันทึกการแสดงสดสมัยก่อนในสถานที่ใหญ่ ๆ อย่าง Woodstock ที่ผมว่าคงบันทึกให้ดีได้ยาก หรือแผ่นที่มีเสียงจัดจ้านแสบแก้วหูเวลาเปิดฟังดัง ๆ ดูว่าเครื่องเสียงของเราจะมีปัญญาทำให้เสียงของแผ่นพวกนี้น่าฟังขึ้นหรือไม่
ตอนที่ผมฟัง ผมนั่งอยู่บนเก้าอี้รับแขกที่นั่งทำมุมฉากกับลำโพงแชนแนลขวา ไม่ได้นั่งฟังตรงกลางหรือที่ sweet spot อะไรทำนองนั้น ฟังไปอ่านหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารเครื่องเสียง ปืน ฯลฯ ไปด้วย ไม่ได้ตั้งใจฟังจริง ๆ จัง ๆ เนื่องจากคาดว่าคงต้องเบิร์นพักใหญ่ถึงจะทนฟังได้ แต่ผมคาดการณ์ผิด ที่แท้ไม่ต้องนานเป็นร้อยชั่วโมงเลยครับ แค่ห้าวันรวมแล้วยี่สิบชั่วโมงก็ได้การแล้ว แถมฟังแบบไม่ต้องตั้งใจฟังด้วยก็ยังสามารถรับรู้ได้ถึงความสุดยอดของแอมป์กับสายไฟชุดนี้
แผ่นแรกที่ฟังก็คือ Vienna Chicago Symphony Orchestra Fritz Reiner (RCA Victor 09026-68160-2) รวมเพลง Waltz ของ Johann Strauss, Jr. เป็นแผ่นตระกูล Living Stereo แผ่นธรรมดาเมดอินอเมริกา ไม่ใช่ SACD ในระยะ 5 นาทีแรกก็เช่นเดิมที่ฟังแอมป์ C3 เป็นครั้งแรกครับ เหมือนยกเครื่องเสียงทั้งชุดลงไปฟังในโอ่ง เสียงมันอับ ๆ อู้ ๆ อึ้ง ๆ เหมือนนักดนตรีและนักร้องยังไม่ได้รับเงินค่าตัวเลยไม่ได้กินข้าวแล้วไม่มีแรงเล่นดนตรีอย่างไรอย่างนั้นเลย แต่พอสักพักหนึ่ง เจ้าสายไฟก็เริ่มแสดงอิทธิฤทธิ์ ปกติแผ่นนี้เสียงกลางแหลมจะไม่สดใสมากนัก อาจจะเนื่องจากเป็นมาสเตอร์เก่าที่บันทึกตั้งแต่ปี 1957 แต่พอฟังไปได้สักพัก ฟังออกได้เลยว่าเสียงกลางแหลมของแทร็คต่อ ๆ มาดีขึ้นมากจากที่ฟังแทร็คแรกอย่างกับหน้ามือเป็นหลังมือ จนผมนึกว่ากำลังฟังอัลบั้มเดียวกันนี้ที่เป็นเวอร์ชั่นเอสเอซีดีอยู่ด้วยซ้ำไป
แผ่นที่สองคือ Woodstock ชุดครบรอบยี่สิบห้าปี (Atlantic 7567-82636-2 ออกปี 1994) เป็น box set สี่แผ่น (สังกัด Warner เมดอินเยอรมนี) ผมซื้อมาตอนไปทริปที่แคนาดาสมัยเรียนหนังสือ ไม่เคยเห็นชุดนี้ที่เมืองไทย เพลงเด็ดคือ Blood of the Sun และ Theme from An Imaginery Western ของวง Mountain ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเสียงออร์แกนไฟฟ้าเล่นคลอตามไปด้วย (จากที่เคยรู้ว่ามีคีย์บอร์ดด้วยการดูจากรูปใน booklet ที่แถมมากับแผ่น) ผมฟังมานับครั้งไม่ถ้วนกับแอมป์ตัวอื่นที่ผมมีอยู่ก็ไม่ได้ยินเสียงคีย์บอร์ดในเพลงนี้ชัดเจนเท่านี้ ทั้ง ๆ ที่ผมฟังไปอ่านหนังสือพิมพ์ไป ไม่ได้ใช้สมาธิฟัง เคยแต่ได้ยินเสียงกีตาร์ของ Leslie West เสียงเบสและเสียงร้องนำของ Felix Pepparlardi และเสียงกลองกลบหมด ส่วนเพลงอื่น ๆ เช่น Soul Sacrifice ของ Santana ได้ยินลีลาการดันสายช่วงเล่นท่อนลีดและการเล่นตอดนิดตอดหน่อยของอีตาซานตานาในช่วงที่ Gregg Rollie กำลังโซโลคีย์บอร์ดได้อย่างชัดเจนกว่าทุกครั้งที่เคยฟังมาแม้กับแอมป์ C3 ที่ไม่มีสายไฟ Xotiq แต่กระนั้นเสียงกลางแหลมของเพลงนี้ในซีดีก็ไม่เหมือนกับในดีวีดี ซึ่งในซีดีเป็นธรรมชาติและมีรายละเอียดดีกว่ามากทั้ง ๆ ที่มาสเตอร์ดั้งเดิมเป็นแค่เทปแปดแทร็คธรรมดา ๆ ทำให้รู้เลยว่าในดีวีดีชุดนี้นั้นคงมีการ makeup เสียงมาขนาดไหน ทำให้ฟังเผิน ๆ เหมือนจะดี แต่พอมาฟังซีดีดั้งเดิมที่ remaster แล้วผ่านอุปกรณ์ C3 แล้วทำให้รู้ได้เลยว่าอะไรเป็นเสียงที่แท้จริงในการแสดงครั้งนั้น
แผ่นที่สามคือ George Benson ชุด Weekend in L.A. (Warner Bros. 266074 แผ่นเยอรมนี) เป็นการเล่นสดในคลับ Roxy เมื่อปี 1977 ในแทร็คที่ 5 (เพลง The Greatest Love of All) และแทร็คที่ 11 (We as love) ฟังแล้วเหมือนกับไปรีมาสเตอร์ใหม่หมด โดยเฉพาะแทร็คที่ 11 นั้น ผมเพิ่งเคยได้ยินเสียงเปียโนไฟฟ้า Moog ที่ Jorge Dalto เล่นแทรกอยู่ ทั้ง ๆ ที่ฟังเพลงนี้จนนับครั้งไม่ถ้วน เรียกว่าไม่ต้องหูทองอุปกรณ์เยี่ยมหรอกครับถึงจะฟังออก หูสังกะสีกับอุปกรณ์ประกอบระดับพื้นฐานก็ฟังออกได้ว่ามันคนละเรื่องคนละเพลงกันเลย
แผ่นที่สี่คือ Lynyrd Skynyrd ชุด Legend (MCA 255082-2/MCAD-42084 เมดอินเยอรมนี) ในแทร็คที่ห้า เพลง Simple Man เล่นสดที่โรงหนัง Fox Theatre เป็นแทร็คหนึ่งที่ผมว่าเสียงจัดจ้านแบบสุด ๆ ซึ่งกับแอมป์ตัวอื่นผมไม่เคยหมุนปุ่มวอลยุ่มได้เกิน 9 นาฬิกาสักครั้ง (ไม่เว้นแม้แต่แอมป์ C3 เองแต่ยังไม่อัพเกรด) แต่คราวนี้กับแอมป์ C3 ตัวเดิมที่อัพเกรดแบบครบ ๆ รวมสายไฟ (ไม่มีแค่แจ๊ค RCA ตัวเมียและหัวท้ายปลั๊กเอซีของ C3) คราวนี้เปิดฟังดัง ๆ ได้สบายหูขึ้นกว่าเดิมมาก แปลกจริง ๆ ที่การเร่งอิเล็กตรอนมีผลต่อเสียงในลักษณะนี้
คนที่เล่นกีตาร์หรือชอบฟังกีตาร์ ลองฟังช่วงที่มีการใช้เทคนิคอุดสาย (muting) ไม่ว่าจะเป็นการจับคอร์ดบาร์แต่ไม่กดสายลงให้ชิด fret board จึงทำให้เสียงมันบอด ๆ หรือใช้สันมือขวาวางแตะไว้ที่สะพานสาย (bridge) ลองเทียบกับที่เราเล่นจริง ๆ ดูว่า เสียงจากแอมป์ชุดนี้มันเหมือนจริงขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นแผ่นใดก็ตาม
แผ่นที่ห้า Jaime Valle ชุด Round Midnight (Top Music TMCD 1013 แผ่นอเมริกา) ที่หากชุดเครื่องเสียงอ่อนไหวหน่อยละก็ เสียงจะคมจนถึงจัดได้ทันที แต่กับ C3 ชุดนี้ฟังสบายครับ เปิดดังขนาดไหนก็โอเค ทั้ง ๆ ที่สายลำโพงของผมเป็นสายเงินซึ่งเสียงพุ่งเปิดแบบสุด ๆ แต่ผมเอาไว้ใช้เพราะเวลาฟังแผ่นที่อัดมาแบบดี ๆ จนถึงพอใช้ มันก็ให้เสียงกลางแหลมที่บรรเจิด และเบสที่กระชับเหมือนกัน
แผ่นที่หก Benny Waters ชุด Live at The Pawnshop (Opus 3 CD 19901 ตัดในสวีเดน) ผมพยายามฟังบรรยากาศเสียงชนแก้ว คนคุยกัน ฯลฯ แบบในบาร์ เพิ่งมาได้ยินถนัด ๆ ในครั้งนี้เอง
แผ่นโบราณที่มาสเตอร์คงทำมาจากแผ่นครั่ง อาทิ Benny Goodman ชุด Live at Carnegie Hall (Columbia G2K 40244) บันทึกเมื่อปี 1938 และสุนทราภรณ์ต้นฉบับ จุฬาตรีคูณชุดที่ 166 (ซีวีดีมิวสิค SMT-16) ซึ่งคงบันทึกมาไม่ต่ำกว่าห้าสิบปีก่อน ฟังแล้วได้รายละเอียดที่ซ่อนอยู่มากกว่าทุกครั้งที่เคยฟัง อนึ่ง ผมลองฟังวิทยุ FM 100.25 MHz รายการ Marmalade Club ตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ช่วงกลางวันจัดเพลงไทยลูกกรุงคลาสสิค ช่วงห้าโมงเย็นถึงหนึ่งทุ่มจัดเพลงฝรั่งทั้งป๊อปและร็อคยุคเก่าใหม่ปนกัน ช่วงเสาร์อาทิตย์จัดเพลงแจ๊ซยันเที่ยงคืน ใช้จูนเนอร์รุ่นเก่าแบบมือหมุนหาคลื่นของ Yamaha ให้เสียงที่ไม่แพ้แผ่นซีดีแม้แต่น้อย
มีอีกหลายแผ่นที่ทยอยฟัง หากบรรยายกันหมดก็คงยาวเกินไป ฟังเพลินจนเมียบ่นว่าไม่ช่วยเลี้ยงลูก เอาแผ่นสมัยใหม่บ้าง เช่น Manger แผ่นยอดนิยม ซึ่งผมว่าเป็นแผ่นที่พิสูจน์ได้เลยว่า ถ้ามาสเตอร์ดีจริง แผ่น 16 bit ธรรมดาไม่ต้องแผ่นทองแท้ที่ไหนก็ให้เสียงไฮฟิเดลิตี้ได้โดยไม่ต้องใช้ฟอร์แมตเทวดาสารพัดแบบที่ทั้งฝรั่งและญี่ปุ่น (อีกหน่อยอาจมีจีน) พยายามคิดขึ้นมาโดยไม่แก้ปัญหาให้ถูกจุด อย่างแทร็คที่ 13 ของแผ่นนี้ ผมยืนอยู่หน้าเครื่องเสียง ห่างไม่เกิน 2 ฟุต เสียงกลองชุดโฟกัสได้ชัดเป๊ะเหมือนยืนอยู่หน้าคนตีกลอง ซึ่งผมก็เพิ่งรู้ว่าเจ้าลำโพงคู่ทุกข์คู่ยากที่ผมอยากจะโยนมันทิ้งมาตลอดยี่สิบสามปีนั้น ให้เสียงหลุดตู้กับเขาเป็นเหมือนกัน
สรุปเบื้องต้น ออกจะเป็นการเร็วเกินไปที่จะสรุปผล final ซึ่งผู้ออกแบบอุปกรณ์ C3 เองก็บอกผมว่า อยากให้ฟังไปเรื่อย ๆ อุปกรณ์จะได้ burn จนอยู่ตัวก่อน แต่จากประสบการณ์ของผม ผมว่าถ้าของดีจริง ระหว่างฟังมันต้องดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ประเภทเบิร์นข้ามภพข้ามชาติแล้วก็ยังไม่ได้เรื่องอยู่นั่นเอง ซึ่ง C3 เป็นของจริงครับ ไม่ต้องรอนาน จากการฟังแอมป์บวกสายไฟชุดนี้ (เสียดายที่ไม่มีหัวท้ายเอซี และแจ็คอาร์ซีเอตัวเมีย) ผมบอกได้เลยว่า ผมเข้าใกล้แอมป์ไฮเอ็นด์หลายตัวที่ราคาสูงกว่าหลายเท่าที่ผมได้เคยฟังตามงานเครื่องเสียงหลายงานแล้วหมายมั่นปั้นมือไว้ ราคาของแอมป์ C3 อัพเกรดบวกสายไฟ Xotiq รวมแล้วราว ๆ หกหมื่นครับ แต่ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่าแอมป์ตัวละแสนกว่าขึ้นไปหลายตัวที่ผมเล็ง ๆ ไว้ก็กินมันไม่ลง เสียงมันทั้งสด มีรายละเอียดแบบชัดเจนทุกขุมขน และให้เสียงดนตรีที่มีพลังอย่างเหลือเชื่อ ที่สำคัญที่สุดคือเสียงของมันเหมือนเครื่องดนตรีจริงมาก เสมือนเรานั่งอยู่หน้าคนเล่น และไม่เกี่ยงประเภทของเครื่องดนตรีด้วย
ทีเด็ดที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ มันไม่เกี่ยงอุปกรณ์ที่ใช้ควบคู่กัน ทั้ง ๆ ที่อุปกรณ์อื่นที่ผมใช้ต่างก็เป็นระดับธรรมดา ๆ ยิ่งลำโพงนี่เป็นยุคปี 1987 ที่สมัยนั้นเทคโนโลยีการทำลำโพงยังไม่ก้าวหน้าและการแข่งขันยังไม่ดุเดือดเท่าสมัยนี้ ผมแกะลำโพงของผมออกมาดูนี่ยังตกใจเลยว่าถ้าเป็นยุคนี้ ลำโพงสมัยใหม่แม้แต่ที่เป็น JBL เหมือนกัน ราคาเท่ากัน (8,000 บาท ไม่นับค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป) คงใช้อุปกรณ์ที่ดีกว่านี้มาก สมัยนั้นถ้าจะเอาอิมเมจกับซาวนด์สเตจด้วย คงต้องจ่ายเป็นแสนขึ้นไปอย่างเดียวครับ
ที่น่าดีใจที่สุดไม่ใช่เรื่องเสียงดีครับ แต่เป็นเรื่องคนไทยเราด้วยกันครับที่มีฝีมือทำให้อุปกรณ์ราคาหกหมื่นมีคุณค่าเท่ากับเงินหกหมื่นจริง ๆ จริงแบบที่ไม่ต้องรอให้ฝรั่ง ญี่ปุ่น หรือจีนแผ่นดินใหญ่มา endorse หรือมาให้ความเห็นว่ามันดี นี่ถ้าเป็นต่างชาติทำผมคงไม่ตื่นเต้นขนาดนี้ มันไม่ใช่แอมป์ที่เปลี่ยนอุปกรณ์ (tweak) แล้วทำให้เสียงเปลี่ยนอย่างเดียว ซึ่งเสียงที่เปลี่ยนไปอาจไม่ดีก็ได้ หรืออาจดีแต่ทำให้เสียบุคลิกเดิมไปอีก ถึงเวลานี้ก็คงอาจจะมีบางท่านเริ่มคิดว่าคนซื้อ C3 อย่างผมนี่มันไก่อ่อนจริง ๆ เรื่อง tweak น่ะเขามีมานานแล้ว เปลี่ยนอุปกรณ์แล้วก็ดีขึ้นทั้งนั้นล่ะ จะคลั่งไคล้อะไรนักหนากับเจ้า C3 มันไม่มีเว็บไซต์ด้วยซ้ำไป ฝรั่งก็ไม่รู้จัก มันจะดีได้อย่างไร โดนแหกตาหรืออุปาทานหมู่เข้าแล้วกระมัง ซึ่งผมเองไม่ใช่เซียน แต่ก็พอรู้เรื่อง tweak ครับ แต่ลำพังเพียงเปลี่ยนอุปกรณ์แล้วผมไม่ทำ เนื่องจากเสียงที่เปลี่ยนอาจฟังดีขึ้น แต่มันเสียบุคลิกเดิมครับ อย่าง NAD 3020 ทวีคได้ครับ แต่มันก็ไม่ใช่แนดหนานุ่มอย่างเดิมแล้วครับ จะบอกว่าผมจะทนไปทำไมกับเสียงเดิม ๆ แต่ที่ทำ ๆ กันมันไม่ได้แก้ปัญหาอย่างตรงจุด ไม่ได้ให้เสียงเครื่องดนตรีจริง ๆ อย่างที่ C3 ทำ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับงบประมาณในการ tweak ด้วย มันอยู่ที่แนวคิดและหลักการมากกว่า
นี่อาจเป็นการปฏิวัติทางความคิดของการออกแบบเครื่องเสียงว่าจะทำอย่างไรให้มันดี แก้ปัญหาถูกจุด และที่สำคัญที่สุดก็คือราคาพอซื้อหากันได้ ซึ่งผู้ออกแบบก็ถ่อมตนว่าเป็นเพียงคนต้นคิดและออกแบบ topology แต่ไม่มีเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างและผลิตมันขึ้นมา ต้องพึ่งพาฝรั่งเศสอยู่ดี แต่ผมให้ความสำคัญกับแนวคิดและเป้าหมายมากกว่าวิธีการครับ ที่สำคัญก็คือ C3 ทำให้ผมเรียนรู้ว่า อุปกรณ์ที่ราคาสูงมาก ๆ ในบางกรณีมันก็ไม่ได้ดีเท่าเงินที่จ่ายเสมอไป เป็นเรื่องธรรมดาของสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องเสียงที่สินค้าที่อยากมีชื่อว่าเป็นไฮเอ็นด์ต้องตั้งราคาแพง ถ้าราคาถูกแล้วคนจะสงสัยว่ามันไม่ดี ทั้ง ๆ ที่ราคามันไม่ควรสูงขนาดนั้น ถ้าสายไฟเอซีเส้นละแสนยังมีคนซื้อ ผมว่า Xotiq ราคาถูกครับ
เอกสารแนบ
(หมายเหตุ : ผมได้ลำดับข้อความใหม่บางส่วนเพื่อให้ติดตามเรื่องได้ง่ายขึ้น โดยพยายามรักษาเนื้อหาเดิมให้ครบถ้วน จริง ๆ แล้วมีรูปประกอบ แต่ผมเขียนรูปด้วยคอมพิวเตอร์ไม่คล่องครับ หลักก็มีเพียงว่า ไม่ให้ต่อถัดจากอุปกรณ์กรองไฟ แต่ต่อก่อนอุปกรณ์กรองไฟได้ เช่นต่อจากปลั๊กผนังมาอุปกรณ์กรองไฟซึ่งอย่างนี้ทำได้ อีกอย่างหนึ่งคืออย่าโมดิฟายใด ๆ ยกเว้นเปลี่ยนปลั๊กหัวท้ายซึ่งอย่างนี้ก็ทำได้ อนึ่ง ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าเอกสารชุดนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นและชี้แจงวิธีการออกแบบ คงไม่ได้บอกว่าอะไรถูกอะไรผิด ซึ่งผมคิดว่าผลลัพธ์ที่ได้มีความสำคัญกว่าหลักการและทฤษฎี)
แนวคิดในการออกแบบและผลิตสายไฟ Xotiq สายไฟ Xotiq ใช้แนวคิดในการเร่งอิเล็กตรอนเป็นหลักการสำคัญ ระบบการเร่งอิเล็กตรอนจัดว่าเป็นสิ่งใหม่ในวงการเครื่องเสียง แม้ว่ามีผู้ผลิตหลายรายออกผลิตภัณฑ์ที่มีความใกล้เคียงกับระบบการเร่งอิเล็กตรอนของ C3 แต่ทว่ายังไม่มีผู้ผลิตรายใดให้ข้อมูลการใช้งานที่ถูกต้องให้กับผู้บริโภค การเร่งอิเล็กตรอนที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจะไม่สามารถกระทำได้ถ้าไม่มีแรงดันไฟเข้าไปทางขั้ว line (ดังนั้น phase ของไฟต้องถูกขั้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเข้า) ตลอดจนต้องควบคุมกระแสไฟและ impedance ของสายไฟ โดยไม่ให้แปรเปลี่ยนไปตาม load ของเครื่อง (ด้วยการกำหนดความยาวของสายไฟหลังเร่งอิเล็กตรอนแล้ว) มิฉะนั้นก็จะเป็นการเร่งอิเล็กตรอนอย่างสะเปะสะปะ กระแสจะไปอั้นอยู่ที่จุดทางเข้า กระแสก็จะเข้าเครื่องน้อย มีแต่ความเร็ว ความสำคัญในประเด็นเหล่านี้เป็นกุญแจหลักที่ทำให้การเร่งอิเล็กตรอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ในกรณีของสายไฟ Xotiq นอกเหนือไปจากการเร่งอิเล็กตรอนแล้ว การควบคุมกระแสและ impedance ของสายไฟก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทาง C3 ให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นที่จะต้องกระทำควบคู่กันไป โดยในกล่อง Xotiq จะมีวงจรพิเศษที่ทำงานขนานกันไปกับหน่วยเร่งอิเล็กตรอน เพื่อที่จะลำดับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้น ไม่ให้ไปทับซ้อนหรือเหนี่ยวนำต้านกันเอง ผลลัพธ์ก็คือเราสามารถเร่งความเร็วและปริมาณของกระแสได้ในเวลาเดียวกัน
แน่นอนว่าอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีทุกอย่างย่อมมีข้อจำกัด ซึ่งในกรณีของการเร่งอิเล็กตรอนนั้น ข้อจำกัดก็คือการนำไปใช้ร่วมกับอุปกรณ์อื่น อธิบายเพิ่มเติมได้ว่า หมายถึงการนำสายไฟ Xotiq ไปใช้กับสายไฟรูปแบบอื่น ยี่ห้ออื่น โดยมิได้มีการคำนวณร่วมกันมาตั้งแต่ต้น ยกตัวอย่างเช่น การทำกล่อง Xotiq (หมายถึงกล่องใส่อุปกรณ์เร่งอิเล็กตรอน) ขึ้นมาโดด ๆ แล้วนำสายไฟอย่างอื่นมาใช้ อย่างนี้จะทำให้ทฤษฏีการเร่งอิเล็กตรอนทำงานไม่สมบูรณ์ คือเร่งได้ แต่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง การทำงานจะไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่ง ณ เวลานี้ ด้วยปัจจัยทางด้านราคาต่อหน่วย ระบบการเร่งอิเล็กตรอนจึงมีความยืดหยุ่นกับการนำไปใช้อยู่บ้าง ดังนั้น ลักษณะและรูปแบบของสินค้า จึงต้องอยู่ในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
การใช้สายไฟ Xotiq ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สายไฟ Xotiq ไม่เหมาะที่จะใช้ต่อถัดจากเครื่องกรองไฟ หรือปลั๊กรางที่มีระบบกรองไฟ เนื่องจากระบบการเร่งอิเล็กตรอนจะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จากการที่ขดลวดของชุดกรองไฟไม่สามารถผ่านกระแสได้มากพอ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว การเร่งอิเล็กตรอนก็สามารถขจัดการรบกวนทางกระแสไฟฟ้าได้อยู่ในตัวอยู่แล้วโดยปราศจากการหน่วงหรืออั้นกระแส
ดังนั้น การใช้สายไฟ Xotiq ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จะต้องต่อสายไฟเข้าปลั๊กผนังโดยตรง หรือต่อเข้าปลั๊กรางแบบธรรมดาที่ไม่มีระบบกรองไฟหรือ noise filter ไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตาม เนื่องจากโดยหลักการแล้ว ระบบ filter ต่าง ๆ เป็นการแก้ปัญหาการรบกวนโดยการใช้ขดลวดหรือตัวเก็บประจุมาต่อเป็นชุดอนุกรมหรือขนานเข้าไปในระบบ ข้อจำกัดจึงอยู่ที่ความสามารถของชุดกรองไฟนั้น ๆ ในขณะที่ระบบการเร่งอิเล็กตรอนจะไปเร่งความเร็วของอิเล็กตรอนแทน เพื่อให้สัญญาณรบกวนที่มีความเร็วต่ำกว่า ไม่สามารถแทรกเข้ามาได้ เป็นหลักการที่แตกต่างไปจากระบบ filter ที่ใช้การกรองไฟผ่านชุดหรือตัวของมันเอง
(หมายเหตุ : ผมผู้ post กระทู้มีความเห็นส่วนตัวว่า เครื่องกรองไฟที่ถึงขั้นจริง ๆ ไม่อั้นกระแส หรืออั้นน้อยมากก็คงมี แต่ราคาล่ะครับ จะมีสักกี่คนที่ซื้อมันได้)
กรณีผู้ใช้สายไฟ Xotiq ที่ต้องการนำสายไปเข้าหัวท้ายเอง ในกรณีนี้ มีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้
1. phase ของไฟต้องถูกขั้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเข้า
2. ห้ามตัดต่อสายไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงทางออกจากกล่องวงจรของสายไฟไปเข้าอุปกรณ์เครื่องเสียง
เหตุผลของเรื่องนี้อยู่ที่เนื้อหาในตอนต้น (หลักการของการเร่งอิเล็กตรอน)
คุณเจมส์แถมท้ายด้วยว่า หากใช้ต่อจากปลั๊กผนัง ให้เสียบค้างไว้เลยไม่ต้องดึงออก ให้มีกระแสไฟแช่ไว้จะเป็นการดียิ่งขึ้น ไม่ต้องกลัว surge, spike หรือ transient ถ้าพังจะซ่อมให้ฟรี บริการเป็นเยี่ยมครับทั้ง ๆ ที่ของติดตลาด คนหากันให้ควั่กไปหมด จนคุณเจมส์วัน ๆ รับโทรศัพท์กันหูแทบไหม้ เวลานั่งคุยกับผมต้องขอตัวรับโทรศัพท์เป็นระยะ ๆ ไม่ขาดสาย สุดท้ายนี้ผมก็ขอขอบคุณท่านอาจารย์ไมตรี ทรัพย์อเนกสันติ และคุณธีรวัฒน์ โชติสุต ที่ได้นำเสนอรายงานทดสอบแอมป์ C3 RED อย่างตรงไปตรงมาจนทำให้ผมกล้าซื้อมันทั้ง ๆ ที่ไม่เคยลองฟังเลย