Tango (ทั้ง Hirata และ Iso) เป็นร้านพันหม้อแปลงเล็กๆ มีพนักงานไม่ถึง 10 คน หม้อแปลงของ Tango เป็นงาน Handmade ทั้งหมดและค่าแรงในญี่ปุ่นแพงมากโดยเฉพาะงานฝีมือพวกนี้ ลองคิดเล่นๆ ครับ ค่าแรงช่างพันผมวันละ 6,000 บาท คนใส่แกนกับ Pot อีก 4,000 บาท วันนึงทำได้ 2 คู่ เฉพาะค่าแรงเปล่าๆ ก็ 5,000 ต่อคู่แล้วครับ ยังมีค่าบริหารจัดการ, ค่าการตลาด, ค่าขนส่ง, ค่าดำเนินการ ค่าแรงทางอ้อมพวกนี้ก็ต้องสูงไปตามมาตรฐานญี่ปุ่นด้วย ค่าวัสดุไม่เท่าไหร่หรอกครับ
Tamura ผมทราบแต่ว่าเป็นบริษัทใหญ่ แต่พยายามรักษาธุรกิจดั้งเดิมที่ผลิตหม้อแปลงสำหรับเครื่องหลอดเอาไว้ ไม่แน่ใจว่าเป็น Shop เล็กๆ เหมือน Tango หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นงาน Handmade ต้นทุนค่าแรงคงไม่ต่างกันเท่าไหร่ ส่วน Series 900 ที่ออกมาล่าสุด ได้ยินมาว่าย้ายไปผลิตที่จีน วัสดุไม่ต่างกันแต่ค่าแรงถูกกว่าเยอะ ราคาก็ถูกลงมาอย่างมากเมื่อเทียบกับ Series ที่ผลิตในญี่ปุ่นครับ
ที่เล่าให้ฟังนี้คือจะบอกว่า คนทำชิ้นส่วนเค้าไม่รู้หรอกครับว่าคุณเอาของเค้าไปทำแอมป์แล้วจะได้เสียงดีหรือไม่ดี มันไกลเกินกว่าช่างทำหม้อแปลงจะคาดคิดไปถึง เค้าก็แค่ทำให้ได้ตาม Spec ทางไฟฟ้าเท่านั้นเอง แล้วก็ขายตามต้นทุน+กำไรที่เค้าจะดำเนินธุรกิจไปได้ มันไม่ได้แพงอย่างไม่สมเหตุผลทางต้นทุน เหมือนอย่างสายทองแดงเมตรละ 200,000 แบบนั้น
เทคนิคการพันหม้อแปลงให้ได้ Spec เหมาะกับงาน Audio มันตายไป 60 ปีแล้วครับ คือไม่มีอะไรใหม่ครับ ค่า Inductance และ Turn Ratio ต้องเหมาะกับหลอดที่ใช้ และต้องทำ Interleaving หรือ Sectional ให้ค่าแฝงต่ำจนไม่กระทบกับย่านความถี่ใช้งาน บางทีถ้าค่าแฝงต่ำพอก็ไม่ต้อง Interleaving ก็ยังได้ หลักๆ ก็มีแค่ 2 เรื่องนี้ อย่างน้อยในช่วง 20 ปีที่ผมศึกษามันมาก็ไม่มีอะไรที่อยู่นอกเหนือจากนี้ ที่เหลือจะเป็นเรื่องวัสดุครับ ชนิดของแกนจะมีผลมากที่สุดเพราะกระทบกับค่าทางไฟฟ้าทุกค่าของหม้อแปลง และที่สำคัญคือลักษณะของ Hyteresis Loop ของแกนจะเป็นตัวกำหนด Loss และความเพี้ยนที่จะได้จากหม้อแปลง ลวดทองแดงตัวเนื้อทองแดงไม่ได้ต่างกันมากเพราะมาตรฐานควบคุมอยู่ แต่ฉนวนที่เคลือบลวดจะให้ผลต่างทางเสียงบ้าง ลวดที่ผลิตกันอยู่ทุกวันนี้ผลิตเพื่อใช้ในงาน Power หรืองาน Motor ซึ่งต้องทนความร้อนสูงหรือทนการกัดกร่อนในกรณีที่ต้องสัมผัสอากาศเช่น Motor จึงมีการเคลือบฉนวน 2-3 ชั้น แต่ไม่มีใครใช้หม้อแปลงเสียงที่ระดับ Power สูงๆ ครับ ลองสังเกตดูว่าในแอมป์ทั่วๆ ไปที่ Power Trans อุ่นๆ ถึงเกือบร้อน แต่ OPT จะเย็นเฉียบ ลวดที่ฉนวนหนาๆ หรือทนร้อนจึงไม่จำเป็น กลับจะทำให้เสียที่ว่างใน Winding Window ไปซะเปล่าๆ ด้วยซ้ำและทำให้ค่า C ของขดลวดสูงขึ้น สุดท้ายก็คือเรื่อง Dip Varnish ครับ การ Dip Varnish เข้าไปถึงในขดลวด จะทำให้ค่า C ของขดลวดพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะใครใช้เทคนิค Vacuum Dip ด้วย Varnish จะเข้าไปแข็งในขดลวดกลายเป็นแท่งตันเลย จริงๆ เราไม่ต้องการค่า C แฝงของขดลวดครับ การ Dip Varnish จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำสำหรับ OPT ที่ควรทำคือการซีลขดลวดไม่ให้ความชื้นเข้าไปเท่านั้นครับ
ท้ายสุดที่อยากจะบอกคือการ DIY มันไม่มีที่สิ้นสุดครับ คุณเลือกได้ว่าจะ DIY ถึงระดับไหน ถ้าคุณจะ DIY Amp การซื้อหม้อแปลงมาใช้ ก็จะทำให้คุณถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น แต่ถ้าคุณทำแอมป์ไปหลายๆ ตัวแล้ว คุณอาจจะอยากลงลึกมากขึ้นไปที่การ DIY ชิ้นส่วน หรือแม้แต่ชิ้นส่วนของชิ้นส่วน ก็แล้วแต่ความพยายามของแต่ละคน เรื่องเสียเงินซื้อแล้วทำเสียหรือทิ้งเป็นเรื่องธรรมดาของงานอดิเรกครับ ถ้าคุณอยากได้แอมป์มาใช้ในราคาประหยัดที่สุด สมัยนี้ DIY ไม่ใช่คำตอบเหมือนเมื่อ 20-30 ปีก่อนแล้วครับ ไปซื้อแอมป์สำเร็จมาถูกกว่าและจบด้วย ส่วน DIY ผมว่าเป็นวิถีครับ แอมป์เป็นผลพลอยได้
ตอนท้ายอาจจะนอกประเด็นเรื่องหม้อแปลงไปซะหน่อย แต่ก็อยากจะแชร์มุมมองให้มือใหม่ทราบประกอบการตัดสินใจครับ ใครสนใจจะทำหม้อแปลงความถี่เสียงใช้เองก็ยินดีให้ความรู้ทุกเรื่องที่ผมทราบครับ